การใช้ชีวิตหรือการปรับตัวหลังช่วงสถานการณ์
Covid-19

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเริ่มปรับตัวหลังช่วงสถานการณ์ Covid-19 มาสักระยะแล้วนะครับ ตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคนี้ได้อย่างมั่นใจ เราๆ ท่านๆ คงต้องได้ทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ต้องทำอะไรให้น้อยลง ผิดจากการใช้ชีวิตปกติวิถีเดิม

First Vector Graphic

Feel Good

คุณธนะชัย สุนทรเวช

App
การใช้ชีวิตหรือการปรับตัวหลังช่วงสถานการณ์ Covid-19

        ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเริ่มปรับตัวหลังช่วงสถานการณ์ Covid-19 มาสักระยะแล้วนะครับ ตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคนี้ได้อย่างมั่นใจ เราๆ ท่านๆ คงต้องได้ทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ต้องทำอะไรให้น้อยลง ผิดจากการใช้ชีวิตปกติวิถีเดิม
        ผมลองนึกๆ ดูว่า กิจกรรมอะไรบ้างที่เราต้องทำเพิ่มขึ้น ถ้าใกล้ตัวและเริ่มกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว คือ ล้างมือถี่ขึ้น ใช้เจลแอลกอฮอล์มากขึ้น และขาดไม่ได้คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัยไปในทุกที่ จนเพื่อนๆ ผมถึงขั้นพูดเตือนแนวติดตลกว่า ทุกวันนี้ถ้าลืมใส่กางเกงในยังไม่เครียดเท่าลืมใส่หน้ากากอนามัย เพราะแค่จะไปร้านสะดวกซื้อ ร้านบางร้านที่เคร่งจริงๆ เขาไม่ให้เข้านะครับ

        ถ้าเกี่ยวกับสุขภาพที่ผมและครอบครัวทำมากขึ้นคือ การออกกำลังกาย ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราต้องไม่ป่วย เราต้องแข็งแรงจนกว่าจะได้วัคซีน เพราะผมเคยพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลในขณะที่ยังมีข่าวโควิดในช่วงแรก โอ้โห เครียดเลยครับ ถ้ามีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว หรืออาการใดๆ ที่ใกล้เคียงกับ Covid-19 มันเป็นไปได้หมด ยิ่งถ้าหายใจไม่สะดวกหรือปอดไม่ค่อยดีนี่มีสิทธิ์ถูกจับแยกไปรักษาอยู่ห้องผู้ป่วยคนเดียวเพื่อตรวจเชื้อ การรอคอยผลการตรวจนี่ทรมานมากครับ เพราะฉะนั้นทางป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ป่วยนั่นเอง
        นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ผมทำมากขึ้นกว่าเดิมคือ พวกบริการออนไลน์ต่างๆ เช่น ดูหนังอยู่บ้านออนไลน์ ใช้การจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น (เลี่ยงการจับเงิน) ขับรถส่วนตัวไปไหนมาไหนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะที่ต้องเจอผู้คนจำนวนมาก
        ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมที่ทำน้อยลงน่าจะมีมากกว่า เช่น ไม่ได้ไปดูหนังที่โรงหนังอีกเลย ลดการออกไปช็อปปิ้งตามห้าง รวมถึงร้านอาหาร การไปเที่ยวต่างจังหวัดเพิ่งเริ่มไปไม่กี่ที่ ซึ่งน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก เรื่องไปเที่ยวต่างประเทศไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะเราต้องรักษาโรคนี้ให้หายพร้อมกันทั่วโลกก่อน ถึงจะเคลื่อนย้ายไปมาได้
        แม้กระทั่งการไปทำงาน ที่ทำงานให้คงการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไว้เป็นบางวัน เพื่อลดจำนวนคนในออฟฟิศ เช่นเดียวกับโรงเรียนลูกที่ให้ไปเรียนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สัปดาห์ที่อยู่บ้านก็ให้เรียนออนไลน์ สัปดาห์ไหนที่ไปเรียนก็ให้เรียนครึ่งห้อง แล้วนั่งห่างกันเพื่อรักษาระยะห่าง รวมถึงต้องยกเลิกการใช้บริการรถตู้รับส่งของโรงเรียน โดยภรรยาอาสาขับไปรับส่งลูกด้วยตัวเอง
        คนไทยได้รวมกันควักต้นทุนทางเศรษฐกิจ กดกราฟผู้ติดเชื้อลดลง จนทำให้การแพร่ระบาดของโรคนี้กลายเป็นศูนย์เป็นระยะเวลาเกินหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม ถ้าหยุดกิจกรรมทางธุรกิจต่อไป ไม่มีใครออกไปไหนเลย เศรษฐกิจหลายประเภทต้องล้มหายตายจากเป็นแน่ ทำให้หลายธุรกิจเริ่มปรับตัวเอง และผมก็พร้อมสนับสนุน เช่น โรงหนังเริ่มมีการฉายหนังแบบ Drive-in Cinema จะเปิดโรงช่วงค่ำๆ โดยขับรถขึ้นไปจอดบนดาดฟ้าของที่จอดรถ คนดูนั่งดูหนังในรถของตัวเอง มีแอร์ตู้ให้ความเย็นข้างรถด้วย แบบนี้น่าไปลอง ถือว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับคนไทย
        หรือถ้าเห็นได้ทั่วไปหน่อย ก็จะเป็นร้านอาหารที่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ สแกนแอปฯ ไทยชนะก่อนเข้าร้าน แล้วก็มีการเว้นระยะที่นั่ง คล้ายๆ กับร้านตัดผมที่ต้องนัดเวลาล่วงหน้า ไม่มีการไปนั่งออรอกันเต็มร้าน มีการทำความสะอาดของอุปกรณ์ เช็ดเบาะเช็คเก้าอี้ทุกครั้งที่ตัดผมเสร็จเป็นรายๆ ไป
        พวกงานอีเว้นท์ต่างๆ ก็จัดแบบปลอดภัย อย่างงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุด ผู้ชมงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิและสวมหน้ากากอนามัยเข้าชมงานแบบมีระยะห่าง ในงานปรับทางเดินให้กว้างขึ้น พริตตี้ใส่ face shield โชว์หน้าสวยๆ ได้ มีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดรถตลอดเวลา
        ส่วนคอนเสิร์ตและศิลปินที่ได้รับผลกระทบ ก็ปรับตัวไปจัดคอนเสิร์ตย่อยแบบไพรเวทปาร์ตี้ หรือมีบางโรงแรมให้ศิลปินมาเปิดคอนเสิร์ตตรงพื้นที่ว่างกลางโรงแรม แล้วให้ผู้เข้าพักออกมาดูผ่านระเบียงของห้องตัวเอง ช่วยทั้งศิลปินและโรงแรมไปพร้อมๆ กัน
        แม้การท่องเที่ยวต่างประเทศและสายการบินจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดโรค Covid-19 ได้ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง รัฐบาลมีแคมเปญสนับสนุนทั้งเรื่องที่พักและร้านอาหารในต่างจังหวัดในราคาประหยัด คืนค่าตั๋วเครื่องบินให้ 40% สิ่งเหล่านี้กระตุ้นคนให้ออกมาใช้เงินและท่องเที่ยวในประเทศ ช่วยคลายความเครียดได้

 

        การช็อปปิ้งในห้างสรพพสินค้าก็สร้างความมั่นใจตั้งแต่ทางเข้าห้าง มีทั้งตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เช็ดพื้นรองเท้า พอเข้า-ออกร้านต่างๆ ต้องสแกนแอปพลิเคชั่น ร้านเสื้อผ้าก็จะมีถุงคลุมศีรษะเวลาลองสวมเสื้อผ้า สิ่งเหล่านี้คือวิถีใหม่ที่สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจไปพร้อมๆ กัน
        หรือถ้าใครเป็นแฟนกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล จะเห็นว่าประเทศในยุโรปให้นักกีฬาลงแข่งแบบไม่มีคนดู แล้วใช้เสียงประกอบคล้ายกับมีกองเชียร์รอบสนาม มันก็แปลกตาดีนะครับ ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่มีคนดู แต่ก็มีเสียงเชียร์อยู่ เวลานักฟุตบอลยิงเข้าประตู แต่ก่อนต้องวิ่งกรูกันเข้าไปกอด ตอนนี้ให้เอาข้อศอกมาชนกัน
        อย่าไปแปลกใจเลยครับ สิ่งเหล่านี้อาจจะขัดหูขัดตาเราไปบ้าง บางคนแข็งขืนดึงดันไม่ทำตาม แต่สุดท้ายกระแสสังคม การเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมจะปรับแต่งวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ให้เข้ารูปเข้ารอย ยิ่งโรคนี้อยู่กับเราไปนานเท่าไหร่ เราก็จะเริ่มชินกับพฤติกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะมนุษย์อยู่รอดมาได้ถึง 2 ล้านปีก็เพราะเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้นั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติ โรคร้าย หรือเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ มนุษย์ก็จะสามารถปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและไปต่อได้เสมอครับ

App