เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตของเด็ก
ให้มีความสุข

เด็กเก่ง เรียนดี มีความสามารถหลากหลาย ทำงานและทำกิจการของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย “ไม่ได้บ่งบอกว่าเด็กคนนั้นมีความสุข” ดังนั้นอันดับแรกผมก็ต้องมานั่งคุยกับลูกชายก่อนเลยว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเขาเป็นอย่างไร เครียดหรือเปล่า สิ่งไหนชอบ สิ่งไหนไม่ชอบ สิ่งไหนทำแล้วมีความสุข ขอให้บอกเพื่อที่เขาจะได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

First Vector Graphic

Feel Good

คุณธนะชัย สุนทรเวช

App
เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตของเด็กให้มีความสุข

        เมื่อได้รับหัวข้อนี้มา ผมเองก็หนักใจเหมือนกันเพราะสิ่งที่ผมคิดและทำ สิ่งที่คนรอบข้างเห็น และสิ่งที่ลูกรู้สึกไม่แน่ใจว่าตรงกันหรือเปล่านะครับ
        เวลาผมเจอเพื่อนๆ และคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอายุไล่เลี่ยกันหรือน้อยกว่า มักจะมาขอสูตรเลี้ยงลูกให้เก่งเหมือนกับลูกชายผม ผมต้องถามกลับว่าเรื่องไหนบ้างที่อยากได้ จะได้บอกถูกเรื่องและตรงประเด็น อย่างไรก็ตาม ก็จะมีอีก 10% บอกว่า สงสารลูกชายผมนะ ท่าทางจะเหนื่อยเพราะต้องทำทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนก็ต้องเรียนให้ดี ทำกิจกรรมของโรงเรียน เล่นกีฬาแล้วต้องไปแข่งกีฬา เล่นดนตรีหลายประเภท วันหยุดก็ตามไปทำงานช่วยพ่อเป็นพิธีกรและเล่านิทานในรายการ ยังไม่พอยังทำรายการ Japanese with Titan สอนภาษาญี่ปุ่นด้วยภาษาอังกฤษของตัวเองอีก

        เสียงส่วนใหญ่ที่ชื่นชมผมก็ยินดี แต่เสียงห่วงใยที่บอกมา ผมก็ต้องนำมาคิดครับ เพราะเด็กเก่ง เรียนดี มีความสามารถหลากหลาย ทำงานและทำกิจการของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย “ไม่ได้บ่งบอกว่าเด็กคนนั้นมีความสุข” ดังนั้นอันดับแรกผมก็ต้องมานั่งคุยกับลูกชายก่อนเลยว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเขาเป็นอย่างไร เครียดหรือเปล่า สิ่งไหนชอบ สิ่งไหนไม่ชอบ สิ่งไหนทำแล้วมีความสุข ขอให้บอกเพื่อที่เขาจะได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

 

        ลูกชายเล่าให้ผมฟังโดยไล่ไปทีละเรื่อง
        1. เรื่องการเรียน ดีที่ครอบครัวเราไม่เคยให้เขาเรียนพิเศษเลย ตอนนี้เขาไม่รู้สึกกดดันเท่าสมัยที่อยู่ชั้นประถมศึกษา ยิ่งพอย้ายมาโรงเรียนใหม่ ไม่มีการเปรียบเทียบคะแนน ไม่มีเกียรติบัตรประเภทเรียนดี ยิ่งสบายๆ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนใหม่นี่ตัดเกรดผ่านที่ 70% ทำให้เด็กๆ สอบไม่ผ่านกันเกินครึ่งห้อง ลูกชายผมเองก็เพิ่งเคยสอบตกกับเขาเป็นครั้งแรก ถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้สัมผัสพร้อมกันกับเพื่อนๆ
        ผมคิดว่าการที่ไม่มีใบประกาศหรือรางวัลมาเป็นเครื่องจูงใจ ก็ดีไปอีกแบบ เด็กและผู้ปกครองจะต้องไม่ต้องคาดหวัง เพราะคาดหวังเกิดผิดหวังก็ทุกข์ ที่นี่ขอให้เรียนเกินเกณฑ์ที่สอบผ่านก็เพียงพอแล้ว เช่น ข้อสอบมี 10 ข้อ เกณฑ์ผ่านคือ 7 คะแนน ถ้าเกิดสอบได้ 6 คะแนน ก็สอบให้ได้เพิ่มอีก 1 คะแนนเป็น 7 ก็พอแล้ว ไม่ต้องสอบซ่อมใหม่ทั้งหมด และผมบอกกับลูกไปแล้วว่า ตลอด 3 ปีที่อยู่มัธยมต้น พ่อจะไม่สนใจเรื่องเกรดหรือคะแนนเลย วิชาไหนได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แล้วเราค่อยมาดูกันตอนท้ายว่าวิชาไหนลูกทำคะแนนได้ดีและชอบเรียนวิชาพวกนี้ ก็จะง่ายต่อการเลือกแผนเรียนต่อมัธยมปลาย และที่สำคัญที่สุด ลูกต้องมีความสุขกับวิชานั้นด้วย ไม่จำเป็นต้องทำคะแนนออกมาดีทั้งหมดทุกวิชา มันจะเหนื่อยเกินไป

 

App

        2. เรื่องกีฬา ผมเองก็ปลดล็อคเขาตั้งแต่ย้ายโรงเรียนใหม่แล้ว ผมให้เขาเลือกกีฬาเอง จะเล่นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องแข่งเหมือนเมื่อก่อน ลูกชายตัดกอล์ฟออกไปอย่างแรก ทั้งๆ ที่เขาเป็นนักกีฬาโรงเรียนมาตลอด โดยให้เหตุผลว่า กอล์ฟใช้เวลาซ้อมเยอะ ต้องไปซ้อมหลังเลิกเรียนอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ วันอาทิตย์ต้องตื่นแต่เช้าไปออกรอบแข่งตลอดทั้งวัน เขาขอหยุดกีฬานี้เพื่อจะได้มีเวลาไปลองทำสิ่งอื่นบ้าง
        ลูกชายเลือกที่จะไปเล่นฟุตซอลกับเพื่อนที่โรงเรียน และขอไม่วิ่ง ผมยอบรับได้ ตราบใดที่ลูกชายยังออกกำลังกายอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปแข่งเหมือนเก่า เขายอมรับว่าสมัยก่อนเขากดดันทุกครั้งที่ลงแข่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันหนึ่งเขาพร้อม เขาอาจจะกลับมาเล่นอีก

        3. ดนตรี ลูกคุยกับแม่เองว่าอยากเล่นอะไร เริ่มจากเปียโน ต่อมาเป็นแซกโซโฟน ตอนแรกภรรยาผมให้ลูกได้ลองเรียนก่อน โดยยืมแซกโซโฟนของลูกเพื่อนมาเป่า เพื่อให้แน่ใจว่าเขาชอบและอยากเรียนจริงๆ จึงลงทุนซื้อให้ ปัจจุบันลูกก็ยังเรียนและเล่นแซกโซโฟนอยู่ โดยขอให้ครูสอนเพลงที่เขาชอบ ผมสังเกตได้ชัดว่าถ้าสัปดาห์ไหนครูให้เล่นเพลงที่ไม่รู้จักมาก่อน จะไปได้ช้ากว่าเพลงที่เขาอยากเล่นเอง

        4. กิจกรรมในโรงเรียน ผมไม่ได้บังคับเลยว่าเขาจะลงอะไรบ้าง ผมจำได้ว่าเทอมแรก ลูกลงทุกอย่างเป็นฟุตซอล พอเทอมต่อมาก็ลงดนตรีทั้งหมด เขาได้ขึ้นเวทีไปทำกิจกรรมของห้องบ้าง แต่ที่ผมแปลกใจคือ เขาสมัครเป็นทูตของโรงเรียนด้วยตัวเอง ลูกชายให้แม่ช่วยอัดคลิป vdo แนะนำตัวแล้วส่งเป็นใบสมัคร เขาเข้ารอบไปคัดเลือกรอบต่อไป จนได้เป็นทูตประจำโรงเรียนร่วมกับเพื่อนๆ และพี่ๆ ทำหน้าที่คอยต้อนรับแขกทั้งไทยและต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนโรงเรียน
        ผมได้เห็นเขาทำหน้าที่ผ่านรูปถ่ายของโรงเรียน อย่างล่าสุดเขาได้ไปต้อนรับคณะทูตจากฟินแลนด์ที่เพิ่งมาดำรงตำแหน่งประจำประเทศไทย ลูกชายพาท่านทูตไปแนะนำห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน พอผมทักลูกชายเรื่องกิจกรรมในโรงเรียนของเขา ลูกชายไม่ได้เล่าอะไรมาก แต่ฟังจากน้ำเสียงแล้ว พอจะรู้ว่าเขาดีใจที่ได้ทำหน้าที่นี้

        5. กิจกรรมเสริมอื่นๆ นอกโรงเรียน ไม่ว่าจะไปทำงานเล่านิทานกับผม อันนี้ลูกชายบอกว่าชอบเพราะได้เงิน แต่ผมก็ต้องบอกลูกให้มีการเตรียมพร้อม รับผิดชอบ และฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น อย่างที่ไปเล่านิทานในรายการ “นิทานตื่นนอน” ทางช่อง ALTV4 (TPBS) อยู่ๆ เขาจะออกไปเล่าเลยไม่ได้ ต้องมีการซักซ้อมก่อน อ่านเรื่องให้เข้าใจ แบ่งช่วงจังหวะการเล่าระหว่างพ่อกับลูก รวมถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขาจะแนะนำให้กับน้องๆ ช่วงท้ายรายการ สิ่งเหล่านี้ต้องมีเตรียมตัว ไม่ใช่ไปมั่วเอาหน้างานเพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดและทีมงานทั้งหมดต้องรอเราคนเดียว ลูกชายมีความตั้งใจเพราะเขาอยากจะเก็บเงินเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง ส่วนกิจกรรมช่อง youtube ของตัวเอง เขาก็พยายามจะทำต่อไป แต่อาจจะไม่ได้ออกถี่ทุกสัปดาห์เหมือนช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

 

        สิ่งเหล่านี้ เริ่มต้นจากการพูดคุยกับลูกนั่นเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาคุณภาพกับลูกที่มากเพียงพอ จนเขาคิดว่าเราเป็นทีมเดียวกับเขา กล้าเปิดใจที่จะเล่าให้ฟัง ถ้าครอบครัวมีเวลาอยู่กันมากพอ บางครั้งไม่ต้องพูดออกมาตรงๆ แค่สังเกตท่าทางและฟังน้ำเสียงก็จะทราบได้แล้วว่า ลูกมีความสุขอยู่หรือไม่ และผมก็ต้องบอกเขาว่าไม่ว่าสุขหรือทุกข์ เมื่อเข้ามาแล้วก็จะผ่านไป เพื่อให้เขาเข้าใจและยอมรับตรงนี้ (ซึ่งในวัยนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอยู่)
        บางครั้งที่ลูกไม่ได้อยู่ในสายตา เช่น ที่โรงเรียน เด็กช่วงวัยรุ่นเขาต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ และคนรอบข้าง แม้ที่บ้านยอมรับ แต่เพื่อนๆ ยังไม่ยอมรับ เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องปรับตัวมาเป็นผู้รับฟัง ในบางเรื่องเราพอที่จะให้คำแนะนำได้ แต่ดีที่สุดคือต้องปรึกษากับคุณครูประจำชั้นที่จะเป็นหูเป็นตา ช่วยสังเกตพฤติกรรมและร่วมกันหาทางแก้ไข โชคดีมากที่โรงเรียนลูกมีครูนักจิตวิทยาเด็กด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากครับ เพราะบางครั้งเด็กต้องการแก้ปัญหาด้วยตัวเองและไม่อยากเล่าให้พ่อแม่ฟัง เขาจะได้รู้สึกว่ายังมีครูนักจิตวิทยาที่ช่วยเหลือเขาได้
        เรื่องสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณพ่อคุณแม่เองต้องใส่ใจ คอยสังเกตและพูดคุยในสิ่งที่เด็กต้องการและไม่ต้องการ นอกเหนือจากประสบการณ์การเป็นพ่อแม่แล้ว ผมได้รับฟังปัญหาเยาวชนในศาลเยาวชนและครอบครัว สาเหตุที่เด็กกระทำผิดเริ่มต้นคล้ายๆ กันคือ เด็กไม่มีคนดูแล พ่อแม่แยกทาง เด็กอยู่กับคนใดคนหนึ่ง หรือไม่ก็ฝากญาติเลี้ยง ทุกคนต้องทำงานและไม่มีเวลาให้ ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาอยู่กับลูกและเข้าใจเขาให้มากที่สุดครับ

App